ชื่อโครงงาน
โครงงานเสื้อกระดาษ
สาระสำคัญ
เศษวัสดุเหลือใช้ประเภทกระดาษหนังสือพิมพ์ สามารถนำมาตัดให้มีรูปทรงเหมือนเสื้อ เพื่อจัดทำเป็นผ้ากันเปื้อนสำหรับนักเรียน ป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าสกปรก โดยการออกแบบตกแต่ง และประดิษฐ์ให้สวยงามได้
จำนวนผู้จัดทำ
จำนวน 10 คน
ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
กิจกรรมสร้างสรรค์ระดับก่อนประถมศึกษา เป็นกิจกรรมที่ใช้กระบวนการต่างๆ ทางศิลปะอย่างหลากหลาย ทำให้ผู้เรียนได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการปฏิบัติกิจกรรมซึ่งครูละนักเรียนสามารถเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรมไว้ล่วงหน้าได้ โดยให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้ ตามความสนใจของนักเรียนเอง ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถเตรียมการป้องกันอันตรายซึ่งจะเกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การเป่าสี หยดสี เล่นสี เป็นต้น โดยการสร้างเสื้อกระดาษ เพื่อป้องกันการเลอะเทอะจากการข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อให้นักเรียนสามารถวางแผนการทำเสื้อกระดาษได้
2. เพื่อให้นักเรียนสามารถออกแบบ ตกแต่ง กระดาษเหลือใช้ให้เป็นเสื้อได้
3. เพื่อให้นักเรียนสามารถบอกขั้นตอนการทำเสื้อกระดาษได้
สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
วัสดุเหลือใช้ประเภทกระดาษหนังสือพิมพ์ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นตกแต่งให้เป็นเสื้อ ไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
วิธีดำเนินการ
1. วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้
- หนังสือพิมพ์
- กรรไกร
- กาวลาเท็กซ์
2. แนวทางการศึกษาค้นคว้า
แผนระยะที่ 1 เริ่มต้นโครงการ
- การศึกษาสภาพปัญหา นักเรียนและครูร่วมกันสนทนาถึงการปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เช่น การเล่นสี การหยดสี การเป่าสี เป็นต้น ถ้านักเรียนปฏิบัติกิจกรรมอย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดอันตรายจากสีได้ เช่น เสื้อผ้าเปื้อนสีที่ปฏิบัติกิจกรรมนั้นๆ
- การอภิปราย/ วิเคราะห์ ร่วมกันกำหนดเรื่องที่จะทำโครงงาน นักเรียนและครูร่วมกันสนทนาถึงการป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าสกปรกจากการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี การนำกระดาษเหลือใช้ประเภทหนังสือพิมพ์มาตัดให้มีรูปทรงเหมือนเสื้อ แล้วใส่ขณะปฏิบัติกิจกรรมเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการเลอะเทอะเปรอะเปื้อนของเสื้อผ้าได้ นักเรียนและครูจึงร่วมกันกำหนดเรื่องที่จะทำโครงงาน “เสื้อกระดาษ”
- การวางแผนการทำโครงงาน นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 - 4 กลุ่มๆ 3 - 4 คน ด้วยความสมัครใจ หรือครูอาจใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เช่น เพลง เกม ฯลฯ เพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนออกตามจำนวนที่กำหนด แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายวางแผนในการจัดเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์ ในการดำเนินกิจกรรม “โครงงานเสื้อกระดาษ”
แผนระยะที่ 2 พัฒนาโครงงาน
- การดำเนินกิจกรรม นักเรียนแต่ละกลุ่มที่จัดเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์ เรียบร้อยแล้ว นำมาลงมือปฏิบัติกิจกรรมการทำเสื้อกระดาษ ตามข้อตกลงของกลุ่มไม่ได้มีข้อกำหนดหรือขั้นตอนดารปฏิบัติงานที่แน่นอนแล้วแต่การวางแผนการทำงานของนักเรียนแต่ละกลุ่ม หรือตามความสามารถของสมาชิกภายในกลุ่ม แล้วดำเนินกิจกรรมการทำเสื้อกระดาษในขั้นตอนนี้ครูทำหน้าที่คอยชี้แนะแนวทางให้คำปรึกษานักเรียนกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสังเกตการณ์ปฏิบัติงานของนักเรียนแต่ละกลุ่ม เพื่อนำมาสรุปผลการประเมิน
- รายงานผลการดำเนินกิจกรรม ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มคัดเลือกตัวแทนกลุ่ม เพื่อรายงานถึงขั้นตอนและกระบวนการทำโครงงานเสื้อกระดาษของกลุ่ม ตลอดจนรายงานถึงการนำเสื้อกระดาษไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
แผนระยะที่ 3 รวบรวมสรุป
- การแสดงผลงาน/นิทรรศการ ผลงานของนักเรียนแต่ละกลุ่มให้นำมาแสดงนิทรรศการบริเวณหน้าชั้นเรียนตามความเหมาะสม แล้วให้นักเรียนในชั้นร่วมแสดงความชื่นชมในผลงานการทำเสื้อกระดาษของสมาชิกทุกกลุ่ม อาจจัดกิจกรรมอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้นักเรียนหรือตัวแทนได้แสดงทรรศนะถึงผลงานเสื้อกระดาษกลุ่มต่างๆ ตามความเหมาะสม
- สรุปผลการดำเนินกิจกรรม/ข้อเสนอแนะ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกิจกรรมสร้างสรรค์ แบบโครงงานในขั้นตอนนี้ นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายถึงเรื่องต่างๆ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรม “โครงงานเสื้อกระดาษ” พร้อมกันนี้ร่วมกันสรุปถึงขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน ประโยชน์ในการนำเสื้อกระดาษไปใช้ ตลอดจนร่วมกันเสนอแนะข้อคิดเห็นในการดำเนินกิจกรรมครั้งต่อไป
แผนปฏิบัติงาน
1. กิจกรรมการศึกษาสภาพปัญหา ดำเนินกิจกรรมในช่วงเวลาว่างตามความเหมาะสม
2. กิจกรรมอภิปราย/วิเคราะห์/กำหนดเรื่องที่จะทำโครงงาน ประมาณ 5 นาที
3. กิจกรรมการวางแผนการทำโครงงาน เวลาประมาณ 5 – 7 นาที (กิจกรรมตามข้อ 1 – 3 ปฏิบัติกิจกรรมล่วงหน้า 1 วันในเวลาที่เหมาะสม)
4. การดำเนินกิจกรรม ใช้เวลาประมาณ 25 นาที
5. รายงานผลการดำเนินกิจกรรม ใช้เวลาประมาณ 5 - 7 นาที
6. การแสดงผลงาน/นิทรรศการ ใช้เวลาประมาณ 5 นาที
7. การสรุปผลการดำเนินกิจกรรม ใช้เวลาประมาณ 3 - 5 นาที (กิจกรรมตามข้อ 4 – 7 ปฏิบัติกิจกรรมในช่วงเวลากิจกรรมสร้างสรรค์ 40 นาที )
การประเมินผล
1. สังเกตจากการวางแผน และการออกแบบผลงงาน
2. สังเกตจากการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรม
3. สังเกตจากการรายงานผลการปฏิบัติงาน
4. ตรวจจากผลงานนักเรียน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการทำงานตามกระบวนการกลุ่ม
2. นักเรียนเกิดทักษะในการปฏิบัติกิจกรรม การออกแบบและประดิษฐ์ของใช้ประเภทเสื้อ
3. นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก และความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา